“MUSEUM MANIA” นิทรรศการประมูลที่ห้ามพลาด โอกาสทองของคนรักงานอาร์ตและนักสะสม
เพื่อดื่มด่ำคุณค่าผลงานชั้นเยี่ยมและสำรวจประวัติศาสตร์ศิลปะไทย 5 ยุค
ถึงเวลาที่คนรักศิลปะและนักสะสมจะมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานครั้งประวัติศาสตร์ MUSEUM MANIA ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ที่ริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก
ชมนิทรรศการและร่วมการประมูลผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่า พร้อมสำรวจประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ใน MUSEUM MANIA ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง The Art Auction Center และ RSF Art Clinic (Restaurateurs Sans Frontières Art Clinic) ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์และปกป้องรักษางานศิลปกรรมที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับระดับนานาชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปี
นิทรรศการประมูล MUSEUM MANIA จัดภายใต้แนวคิด ผลงานที่ทรงคุณค่าระดับพิพิธภัณฑ์อันมีความสำคัญต่อวงการศิลปะไทยในหลากหลายช่วงเวลา ซึ่งท่านสามารถร่วมการประมูลเป็นเจ้าของได้ ชมนิทรรศการในบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ในอุดมคติ ซึ่งได้ร้อยเรียงเรื่องราว 2 ศตวรรษของประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 5 ยุค จากรากฐานตั้งแต่ยุคสยามศิวิไลซ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งศิลปะไทยถูกสร้างสรรค์จากความหลากหลาย โลกาภิวัตน์ และยุคสมัยแห่งดิจิตัล
งานนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วิชญ มุกดามณี คณบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมร้อยเรียงเรื่องราวของนิทรรศการและผลงาน
“พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยผมเชื่อว่ามาพร้อมกับแนวความคิดที่เราอยากพัฒนาประเทศไปสู่ความศิวิไลซ์เช่นเดียวกับชาติยุโรป ในประวัติศาสตร์แรก ๆ ของการเกิดพิพิธภัณฑ์อาจจะยังไม่ถูกเผยแพร่เข้าสู่ความเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่เป็นการรวบรวมผลงานโดยชนชั้นนำของประเทศ ผู้ที่ชื่นชมกับการมีพิพิธภัณฑ์ในช่วงเริ่มต้นก็คือ กลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับองค์ความรู้ในลักษณะนี้ เคยไปเห็นเคยได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับชาวต่างประเทศ แต่เมื่อองค์ความรู้เรื่องนี้มีมากขึ้นในสังคม การเกิดพิพิธภัณฑ์ที่เป็นช่องทางที่คนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้จึงเริ่มเปิดตัวมากยิ่งขึ้น
“เมื่อเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่เพียงแค่เราไปเห็นผลงานศิลปะ ไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่ยังนำเสนอคุณค่าที่มากกว่านั้น ไม่ได้มีแค่คุณค่าของความเป็นงานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่เรายังได้เรียนรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราได้เรียนรู้รสนิยม และที่สำคัญคือ เราได้เรียนรู้ว่าแนวความคิดของผู้ที่จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาต้องการจะพูดถึงเรื่องอะไร เราได้เห็นถึงคุณค่าของการเกิดขึ้นของชาติ คุณค่าของการเกิดขึ้นของสังคม และคุณค่าของเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตต่าง ๆ ด้วย” ผศ.ดร.วิชญ มุกดามณี กล่าว
พบกับผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมจากการสร้างสรรค์ของ กาลิเลโอ คินี, คาร์โล ริโกลี, ศิลป์ พีระศรี (คอร์ราโด เฟโรชี), ประกิต (จิตร) บัวบุศย์, ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์, จ่าง แซ่ตั้ง, ประเทือง เอมเจริญ, เขียน ยิ้มศิริ, อังคาร กัลยาณพงศ์, ถวัลย์ ดัชนี, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, อิทธิพล ตั้งโฉลก, ปรีชา เถาทอง, ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี, อุดม แต้พาณิช, อเล็กซ์ เฟส – พัชรพล แตงรื่น, มอลลี่ – นิสา ศรีคำดี, กิตติ นารอด ฯลฯ
ผลงานศิลปะซึ่งจะนำเข้าสู่การประมูลมากกว่า 130 ชิ้น นอกจากจะมีคุณค่าทางสุนทรียภาพแล้ว ยังจะทำให้ตลาดศิลปะ นักสะสม และสาธารณชนทั่วไปสามารถทำความเข้าใจคุณค่าของศิลปะในแง่มุมที่กว้างมากขึ้น
นิทรรศการแสดงผลงานจัดระหว่าง วันที่ 12-22 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00 -20.00 น. RCB Galleria 1 ชั้น 2 และ RCB Artery ชั้น 1 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก การประมูลผลงานจัดในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566 เริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมงานประมูล เวลา 11.00-13.00 น. เริ่มประมูลผลงาน เวลา 14.00 น. RCB Artery ชั้น 1 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
อย่าพลาดมาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการและการประมูล MUSEUM MANIA เพื่อร่วมดื่มด่ำสัมผัสคุณค่าของผลงานชิ้นเยี่ยมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย 2 ศตวรรษในบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์อันสมบูรณ์แบบ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://www.facebook.com/theartauctioncenter หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line @theartauction และโทร. 065-097-9909
MUSEUM MANIA เรื่องราวและคุณค่า ประวัติศาตร์ศิลปะไทย 5 ยุค
นิทรรศการประมูล MUSEUM MANIA จะพาคุณเดินทางไปสู่บรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ชั้นนำระดับชาติ ที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์และคุณค่าของงานศิลปะไทย โดยแบ่งออกเป็น 5 ยุคตามลำดับเวลา คือ
ยุคที่ 1 สยามศิวิไลซ์และความสัมพันธ์กับศิลปินยุโรป
หลังการแผ่ขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกโดยเฉพาะจากยุโรปมาสู่เอเชีย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่างไทยโบราณซึ่งเคยทำงานศิลปะเพื่อเชิดชูและตอบสนองความต้องการของวัดและวัง ใกล้ชิดกับความเชื่อ ภูมิปัญญา ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้รับอิทธิพลจากองค์ความรู้และธรรมเนียมปฏิบัติสมัยใหม่ได้พัฒนาเรียนรู้แนวคิดของการทำงานศิลปะแบบตะวันตก
หลังเสด็จประพาสยุโรป ในช่วงปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อผลงานศิลปะจากศิลปินตะวันตกจำนวนมาก ทั้งยังว่าจ้างศิลปินและสถาปนิกจากต่างประเทศให้มาทำงานในราชสำนัก
สถาปนิกและศิลปินจากยุโรปที่มีบทบาทในสังคมสยาม รวมถึง กาลิเลโอ คินี มัณฑนากร จิตรกร และประติมากร ผู้วาดภาพตกแต่งเพดานโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม คาร์โล ริโกลี จิตรกรผู้วาดภาพตกแต่งภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม วังบางขุนพรหม และพระอุโบสถวัดราชาธิวาส และ คอร์ราโด เฟโรชี (ศิลป์ พีระศรี) ประติมากรผู้ปั้นพระบรมรูปของรัชกาลที่ 6 และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
ศิลปิน นายช่าง และสถาปนิกชาวยุโรปกระตุ้นให้เกิดการนำเข้าองค์ความรู้ทางศิลปะถ่ายทอดไปสู่ประชาชนชาวไทย เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ประยุกต์ใช้ศิลปะตะวันตกโดยศิลปินไทยเพื่อนำตอบรับพระราโชบายของราชสำนัก และกลายเป็นรากฐานสำคัญของศิลปะสมัยใหม่ของประเทศในเวลาต่อมา
ยุคที่ 2 บุกเบิกการเรียนรู้และสร้างสรรค์ศิลปะของประเทศไทย
ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่าง เป็นโรงเรียนศิลปะแห่งแรกส่งเสริมและสืบสานศิลปะแนวประเพณี เทคนิคช่างสิบหมู่ และมีการเรียนการสอนศิลปะแบบตะวันตกเพิ่มเติมด้วย พ.ศ. 2486 เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิด นักเรียนเพาะช่างจำนวนมากได้เข้ามาศึกษาต่อและหลายท่านเป็นรากฐานสำคัญในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยด้วย
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชนชั้นนำในประเทศไทยได้เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบ บางคนแม้ไม่ได้ศึกษาโดยตรง แต่มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีโลกทัศน์ในการชื่นชมศิลปะอย่างชาวตะวันตกจึงได้นำความรู้กลับมาพัฒนาต่อยอด จนกลายเป็นศิลปินทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นมากมาย
ทั้งยังมีศิลปินจากต่างประเทศเข้ามามีบทบาทสร้างสรรค์ผลงานในแวดวงสังคมไทย และมีศิลปินผู้บุกเบิกก่อร่างสร้างศิลปะสมัยใหม่ในประเทศ โดยอาศัยการฝึกฝนและเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกสถาบันการศึกษาศิลปะ สร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัว ฝ่าฟันอุปสรรค จนกระทั่งได้รับการยอมรับ มีชื่อเสียง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งในและนอกวงการ
ยุคที่ 3 จากโรงเรียนประณีตศิลปกรรมสู่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 คอร์ราโด เฟโรชีได้รับมอบหมายให้เปิดโรงเรียนสอนศิลปะแบบตะวันตกให้กับประชาชนชาวไทย โดยต่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้นมาและรวมเข้ากับโรงเรียนนาฏ ดุริยางคศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนศิลปากร ภายหลังยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร
คอร์ราโด เฟโรชีภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ศิลป์ พีระศรี มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานการเรียนการสอนศิลปะร่วมกับคณาจารย์และนักปราชญ์ด้านศิลปะของประเทศไทย ลูกศิษย์ของท่านกลายเป็นศิลปินที่บุกเบิกสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสมัยใหม่ นำหลักการและแนวคิดทางศิลปะตะวันตกเข้ามาประยุกต์และผสมผสานกับการสร้างสรรค์ศิลปะของตนเอง หลายท่านยังมีโอกาสได้ศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ
ศิลปะไทยในยุคนี้เป็นลักษณะผสม (hybrid) โดยการหยิบเรื่องราวทางวัฒนธรรมและประเพณีมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์
ยุคที่ 4 สืบสานปณิธานศิลป์ พีระศรี
หลังจาก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2505 ศิลปินหัวก้าวหน้าจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างสรรค์ผลงานในแนวสมัยใหม่ที่หลากหลาย น่าสนใจ และแปลกใหม่
ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2519 ศิลปะแบบสัจสังคมนิยม (Socialist Realism) ได้ปรากฏให้เห็นมากขึ้น ควบคู่กับแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิต และการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อการรณรงค์ การประท้วง และการเรียกร้อง หวังผลในเชิงท้าทายและต่อต้านกระแสศิลปะเพื่อศิลปะ
อีกแนวทางศิลปะที่พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนในสังคมไทยคือ ศิลปะในรูปแบบของการสืบสานอัตลักษณ์ ทั้งเชิงรูปแบบและเนื้อหาจากประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น บอกเล่าภาพลักษณ์ “ความเป็นไทย” สู่สายตาชาวต่างชาติ
วงการศิลปะเกิดเวทีการประกวดที่ให้ความสำคัญกับผลงานจิตรกรรมแบบรากฐานของประเพณีไทยดั้งเดิม มีการจัดตั้งภาควิชาศิลปไทยในคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อส่งเสริมงานสร้างสรรค์ในลักษณะไทยประเพณีและลักษณะไทยสร้างสรรค์แนวทางที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้ปลูกฝังไว้ได้นำมาพัฒนาต่อยอดให้ศิลปะประเพณีไทยสามารถสื่อสารในบริบทของสังคมร่วมสมัยมากขึ้น ศิลปินสามารถเลือกทำงานได้ทั้งในเชิงอนุรักษ์ สืบสานจากแนวทางดั้งเดิม หรือว่าจะพัฒนาสู่แนวทางการสร้างสรรค์เฉพาะตัวที่ถ่ายทอดความเป็นไทย
ยุคที่ 5 ความหลากหลายจากโลกาภิวัตน์ ร่วมสมัย และยุคแห่งดิจิทัล
นับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2530 จวบจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมากมาย
ในช่วงปี พ.ศ. 2540 กับวิกฤตต้มยำกุ้ง วงการศิลปะของไทยได้รับผลกระทบ ความเฟื่องฟูของตลาดศิลปะและผลงานในแนวคอนเซ็ปชวลอาร์ตพบกับโจทย์ความท้าทาย
กระแสศิลปะร่วมสมัยที่คำนึงถึงปัญหาในเชิงสังคมอันหลากหลาย การวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะกระแสหลักเติบโตขึ้นพร้อมกับพื้นที่และชุมชนทางศิลปะใหม่ ๆ ปัญหาสังคมและความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้ศิลปินรุ่นใหม่แสวงหาอิสรภาพและทางออกใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์
อีกทั้งโรคระบาดและการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมล้ำสมัยต่าง ๆ ได้พลิกโฉมวงการศิลปะ ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานในเทคนิคหลากหลาย เชื่อมโยงแนวความคิดและเทคนิคการทำงานเข้ากับกระแสความเป็นนานาชาติ ชี้นำสังคมและกระตุ้นความสนใจของนักสะสมด้วยภาษาทางศิลปะอันเป็นสากล หลายคนประยุกต์ใช้หรือหยิบยืมแนวทางศิลปะนอกกระแสมาสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการศิลปะร่วมสมัยกระแสหลักได้อย่างน่าสนใจ
ไม่ว่าจะเป็นการพลิกผันแนวทางศิลปะบนท้องถนน ศิลปะแบบป็อปอาร์ต ศิลปะแบบของเล่น (Toy Art) ศิลปะเชิงภาพประกอบ (Illustrative Art) ศิลปะดิจิทัล NFTs ให้กลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้ดูและนักสะสม กลายเป็นกระแสความนิยมที่สะท้อนทิศทางของตลาดศิลปะในยุคที่ผันแปรไปกับกระแสของโลกออนไลน์ดังเช่นในปัจจุบัน
ผลงานไฮไลท์ นิทรรศการประมูล “MUSEUM MANIA” โดย The Art Auction Center ร่วมกับ RSF Art Clinic
คาร์โล ริโกลี Triton and Nereid (2464)
คาร์โล ริโกลี จิตรกรชาวอิตาเลียน ผู้ช่วยวาดภาพตกแต่งพระที่นั่งอนันตสมาคมและวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส ผลงานชิ้นนี้เป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพนายเงือกตามตำนานที่มีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นปลา คาดว่าต้นแบบเป็นภาพพิมพ์จากต่างประเทศ สร้างสรรค์โดยอิงกับลักษณะและเนื้อหาแบบศิลปะตะวันตกตามยุคสมัย คาดว่า Triton and Nereid เคยตกแต่งในห้องรับแขกของดุสิตสโมสรซึ่งออกแบบโดย มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกผู้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม
ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ Nude
จิตรกรชาวอินโดนีเซียผู้เคยพำนักในประเทศไทยยาวนานกว่าสิบปี ผู้วาดพระบรมสาทิศลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญ Nude เป็นภาพเปลือยผู้หญิงนอนหงายวาดแขนไว้หลังศีรษะ ท่าทางคล้ายกับ La Maja Desnuda ของ ฟรันซิสโก โกยา ภาพผู้หญิงนอนทอดกายอยู่บนผ้าสีม่วงสด ขับเน้นผิวให้เด่นชัด ด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ สวยงามอบอุ่นด้วยบรรยากาศและการใช้โทนสีเรียบง่าย สะท้อนทักษะและความชำนาญของศิลปิน แฝงไว้ด้วยความรู้สึกแบบหญิงสาวตะวันออกที่ลึกลับและนุ่มนวล
ประเทือง เอมเจริญ พลังในธรรมชาติ / Power of Nature (2518)
ผลงานภาพลายเส้นสีขาวดำบนกระดาษที่ดูแปลกตา สร้างสรรค์ในช่วงที่การเมืองของไทยเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ก่อนนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในปี 2519 งานชิ้นนี้ไม่เห็นประเด็นในเชิงสังคมชัดเจนและยังคงใช้ธรรมชาติมาเป็นเนื้อหาหลักในการทำงาน เพื่อนำเสนอสาระทางความคิดและความประทับใจที่ศิลปินเชื่อมโยงธรรมชาติและธรรมะในพระพุทธศาสนาไว้ด้วยกัน รูปแบบของการจัดวางองค์ประกอบยังคงมีความต่อเนื่องกับผลงานในเชิงสัจนิยมของ ประเทือง เอมเจริญ ในห้วงเวลาร่วมสมัยเดียวกัน
อังคาร กัลยาณพงศ์ กินรีร่ายมนต์ขอกายสิทธิ์จากดวงดาว/Kinnara’s Incantation (2540)
รูปสัตว์หิมพานต์ ครึ่งคนครึ่งนก เครื่องแต่งกายเป็นสีทองอร่าม ยืนอยู่ท่ามกลางพระจันทร์เต็มดวงและหมู่ดาว ผลงานชิ้นนี้ อังคาร กัลยาณพงศ์ ใช้เทคนิคสีฝุ่นบนผ้าใบและมีการปิดทอง พื้นหลังบรรยากาศสีเทาอมฟ้าผสมผสานกับโทนสีเขียว ขับเน้นให้สีทองยิ่งดูสุกปลั่งสวยงามโดดเด่น เป็นรูปแบบเดียวกับผลงานชิ้นสำคัญที่อยู่ในการสะสมของธนาคารแห่งประเทศไทย
ถวัลย์ ดัชนี Vitruvian Man (2511)
จิตรกรรมสีน้ำมันขนาดใหญ่ ภาพคนกางแขนกำลังขี่ควายสามตัว สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวที่ ถวัลย์ ดัชนี เดินทางกลับจากศึกษาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ คาดว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพ Vitruvian Man ในขณะที่ควายทั้งสามตัวนั้นหมายถึง การที่ยังคงไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง ภาพนี้จึงอาจหมายถึง ตัวศิลปินสำนึกถึงความ สำคัญของประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นตัวตนคนไทย แม้ว่าจะได้เปิดโลกทัศน์และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายจากต่างประเทศมาแล้วก็ตาม
จักรพันธุ์ โปษยกฤต Untitled (2509)
งานอีกหนึ่งประเภทของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ ภาพเหมือนบุคคล ผลงานชุดแรก ๆ ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาหรือเพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรคือ ภาพเหมือนของเพื่อน ครอบครัว ครูอาจารย์และคนใกล้ชิด วาดด้วยสีสันสดใส สะท้อนจินตนาการที่ศิลปินมีมุมมองเฉพาะตัวต่อแบบซึ่งเลือกมาวาด สำหรับภาพนี้ เป็นภาพเหมือนของสตรีหน้าตาสวยงาม รวบผมเรียบร้อย สวมชุดสีแดง สีสัน ฝีแปรง และโครงสีบรรยากาศมีความนุ่มนวลเป็นเฉพาะตัว
อเล็กซ์ เฟส – พัชรพล แตงรื่น Alex Face X Volcom (2561)
ศิลปินผู้นำสตรีทอาร์ตที่ปะปนอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันบนท้องถนนของคนทั่วไปมาอยู่บนผนังของแกลเลอรี่เจ้าของผลงานซึ่งแพร่หลายและเป็นที่สนใจของนักสะสมมากที่สุดคนหนึ่ง ภาพนี้สร้างสรรค์ร่วมกับแบรนด์เสื้อผ้า Volcom โดยศิลปินพ่นสเปรย์สดบนเวทีในวันงานเปิดตัว สอดแทรกสัญลักษณ์แบรนด์ไว้ที่หูของน้องมาร์ดี เด็กหญิงสามตาในชุดมาสคอตกระต่าย ซึ่งเป็นคาแร็คเตอร์ที่ศิลปินสร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากการมีลูกสาว ความสะเทือนใจ ความห่วงและกังวลที่ลูกสาวจะต้องเติบโตในสังคมปัจจุบัน โดยให้เป็นสัญลักษณ์ของความไร้เดียงสาที่กำลังเผชิญหน้าและตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ต่าง ๆ ในสังคม
มอลลี่ – นิสา ศรีคำดี Underneath It All (2565)
ศิลปินอาร์ตทอยชาวไทยที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับอย่างสูงในต่างประเทศ ผู้สร้างสรรค์คาแร็คเตอร์ Crybaby เด็กผู้หญิงที่มีหยาดน้ำตานองแก้ม การร้องไห้สำหรับมอลลี่คือ ส่วนหนึ่งของการเยียวยาจิตใจ เป็นกระบวนการธรรมชาติที่ใช้ระบายและฟื้นฟูความรู้สึก ให้พร้อมลุกยืนแล้วประกอบจิตใจที่แตกสลายให้กลับมาดำเนินชีวิตต่อไปได้ ท่ามกลางอุปสรรคและความท้าทายมากมายที่เข้ามาให้เราได้เผชิญหน้าตลอดเวลา ผลงาน Underneath It All ใช้เทคนิค die-cut fiber glass เป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่นำออกแสดงในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของศิลปินเมื่อปี 2565
กิตติ นารอด The Last Drink (2559-2560)
จิตรกรไทยที่ได้รับสนใจในระดับนานาชาติ ผู้สอดแทรกเรื่องราวความเท่าเทียมกันของมนุษย์ โดยเฉพาะประเด็นด้านความเท่าเทียมทางเพศ LGBTQ+ ไว้ในเนื้อหาของผลงานหลายชิ้น จิตรกรรมของกิตติมักเล่าเรื่องผ่านตัวละครมนุษย์และการมีปฏิสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตัวละครมีโครงสร้างหน้าตาคล้ายคลึง แตกต่างในรายละเอียดเล็กน้อย แขนขาโค้งยาว เกาะเกี่ยวผูกพันกันอย่างอิสระ บรรยากาศของภาพเรียบง่าย ใช้สีสันสดใส นำเสนอความรู้สึกสนุกสนาน ผ่อนคลาย สำหรบ The Last Drink ได้รับแรงบันดาลใจจาก อาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ของ The Art Auction Center ได้ที่ https://www.facebook.com/theartauctioncenter หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line @theartauction และ โทร. 065-097-9909
RSF Art Clinic Tel +660 61-505 1654 Email : rsf-artclinic@theartauctioncenter.com