เนื่องในวาระวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF: International Diabetes Federation) ได้มีการรณรงค์ในประเด็นต่าง ๆ ให้ประชาชนรับทราบ สมาคมโรค เบาหวานแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร, กรมควบคุมโรค, เครือข่าย คนไทยไร้พุง, เครือข่ายชมรมเบาหวาน, ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ, สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยฯ ได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมภาคประชาชน ที่ให้ความรู้ในรูปแบบ Walk-Rally และเปิดเวทีเสวนา ภายใต้แนวคิด “Education to Protect Tomorrow” “พรุ่งนี้ไม่สาย ถ้าเรารู้ทัน” #ให้เบาหวานเป็นเรื่องต้องรู้ รวมถึงออกบูธ กิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ในเรื่อง Healthy Lifestyle ทั้งด้านอาหารการออกกำลังกายและการดูแลอารมณ์ จิตใจ เป็นการป้องกันโรคอ้วน เบาหวาน และลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่ง ประเทศไทย เผยในการเสวนา “กรุงเทพ เดินได้” ว่า “โรคเบาหวาน” เป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นภาระด้าน สาธารณสุขของประเทศ จากการสำรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีคนไทยเป็นโรคเบาหวานมากถึง 5.3 ล้านคน ซึ่งจำนวนคนที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือคนในกรุงเทพเป็นเบาหวานมากกว่าจังหวัด อื่นๆ เกือบเท่าตัว โดยเฉลี่ย คนไทย 100 คน เป็นเบาหวาน 10 คน แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ เป็นเบาหวานถึง 17 คนจาก 100 คนเลยทีเดียว สอดคล้องกับที่เห็นคนกรุงเทพจำนวนมากมีภาวะ อ้วนและเกิดปัญหาสุขภาพมากกว่าคนในจังหวัดอื่น ๆ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญและมักถูกละเลยคือ “กินอยู่ไม่ดี” หรือ “กินดีอยู่ดีเกินไป” หมายถึง ภาวะโภชนาการเกิน กินไม่ถูกต้อง ไม่ออกกาลังกายหรือมีกิจกรรมออกแรง ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความเครียด การนอนหลับไม่เพียงพอ การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และมลภาวะในอากาศรอบตัว รวมถึงอายุที่มากขึ้นและพันธุกรรม ก็เป็นปัจจัยเร่งเพิ่มเติม
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ กล่าวเน้นถึงความสำคัญของการเดินอีกว่า เป็นส่วนหนึ่งของการออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมออกแรงทางกายที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดและประหยัดที่สุด เพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมากนัก และก็เหมาะกับผู้คนทุกช่วงวัย รวมถึงผู้ป่วยเบาหวานด้วย
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในการเสวนา ภายใต้หัวข้อ “กรุงเทพ เดินได้” ว่า “เมืองกรุงเทพมหานคร นอกจากจะเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่มีจำนวนผู้คนอยู่ อาศัยสูงสุดในประเทศแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคด้วยซึ่ง เป้าหมายของทุกคน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครเองก็คือ การพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่ดี โดย ที่เรามีนโยบายพัฒนามหานครของเราให้เป็นเมืองที่ดีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี หรือแม้แต่ปลอดภัยดี และแน่นอน เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ดีครบในทุกมิติอย่างแท้จริง หนึ่งในความ มุ่งหวังของกรุงเทพมหานคร และนโยบายที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือการทำให้คนในกรุงเทพมหานคร มีสุขภาพที่ดี โดยที่กรุงเทพมหานคร มีโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ลงลึกในระดับเขตที่ส่งเสริมให้คนใน กรุงเทพมหานคร มีสุขภาพที่ดี รวมถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมดีและการเดินทางดี เพื่อให้ท้ายสุดผู้คนมีสุขภาพ ที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม จึงอยากเชิญชวนให้ คนกรุงเทพฯ ใส่ใจดูแลสุขภาพ และ เดินให้มากขึ้น”
ก่อนเข้าสู่ช่วงพิธีการ โดยมี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับเข้าสู่งานฯ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาหัวข้อ “กรุงเทพฯ เดินได้” พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
สำหรับบรรยากาศ ของการจัดกิจกรรมวันเบาหวานโลก Walk Rally Theme: Access to Diabetes Care ในหัวข้อ “Education to protect tomorrow” “พรุ่งนี้ไม่สาย ถ้าเรารู้ทัน” #ให้เบาหวานเป็นเรื่องต้องรู้ มีความคึกคักตั้งแต่เริ่มงาน โดยมีผู้รักสุขภาพหลากหลายช่วงวัย พาเหรดมาลงทะเบียน และรับเสื้อ วอร์มอัพร่างกายพร้อมแล้ว ก็ออก Walk Rally ตะลุยฐานกิจกรรม ที่ได้ทั้งออกกำลังกายและรับความรู้ กับกิจกรรมฐานเกมส์ต่างๆ สิ้นสุดกิจกรรมเรียกเหงื่อด้วยอาหารเช้ามากคุณประโยชน์ช้อปตลาดนัดสุขภาพกัน อย่างคึกครื้น
นอกจากนี้ภายในบริเวณการจัดงาน เต็มไปด้วยบูธให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานต่าง ๆ มากมาย อาทิ การเข้าถึงอาหารสุขภาพ และการออกกำลังกาย, นิทรรศการศิลปะเบาหวานเด็ก จัดแสดงภาพวาด ภาพถ่าย VDO รณรงค์ เรื่อง Diabetes awareness, อาหารเพื่อสุขภาพ จำหน่ายพืชผักผลไม้ สินค้าปลอดสารพิษ, ประเมินความเสี่ยงเบาหวานด้วยตนเอง, ตรวจน้ำตาลในเลือดเจาะปลายนิ้ว, ฉีดวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น นับว่าประทับใจผู้มาร่วมงานถ้วนหน้าเพราะได้ทั้งสารอาหารดีต่อร่างกายแล้ว ยังได้องค์ ความรู้ดีๆ นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง โดยงานดังกล่าวจัดขึ้น ณ สวนอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย