กรุงเทพ ฯ 22 มีนาคม 2567 วงดุริยางค์ซิมโฟนีโตเกียว ในความสนับสนุนของสภาศิลปะแห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวโครงการดนตรีคลาสสิคแห่งเอเชีย ด้วยการแสดงคอนเสิร์ตดุริยางค์ซิมโฟนีรอบพิเศษที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ในการลงนามบันทึกความเข้าใจที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วงดุริยางค์ซิมโฟนีโตเกียว, วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ และคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการเป็นพันธมิตรใน “โครงการดนตรีคลาสสิคแห่งเอเชีย” ซึ่งริเริ่มโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีโตเกียว ด้วยการสนับสนุนภายใต้ “โครงการสนับสนุนวงดุริยางค์ซิมโฟนีแบบใหม่” ของสภาศิลปะแห่งประเทศญี่ปุ่น การแสดงคอนเสิร์ตรอบพิเศษในวันนี้เป็นการแสดงรอบปฐมฤกษ์ของโครงการนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย สมาคมญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ยามาฮ่า และ โตโยต้า
การแสดงคอนเสิร์ตวงดุริยางค์ซิมโฟนีโตเกียวรอบพิเศษในครั้งนี้นำโดยวาทยกรนาโอโตะ โอโตโม ซึ่งมีชื่อเสียงก้องโลกจากการเป็นวาทยกรในคอนเสิร์ตยิ่งใหญ่ทั่วโลกกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีระดับโลกไม่ว่าจะเป็นวงดุริยางค์หลวงฟิลฮาร์โมนิกสต็อกโฮล์ม รวมถึงวงดุริยางค์แห่งประเทศโรมาเนีย ในปัจจุบัน วาทยกรโอโตโมดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของวงดุริยางค์ซิมโฟนีโอกินาวา นอกจากนี้ การแสดงดนตรีคลาสสิครอบพิเศษในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากมือโซโลไวโอลินที่กวาดรางวัลการแสดงจากทั่วโลก คุณโมเน่ ฮัตโตริ ซึ่งเริ่มต้นเป็นนักไวโอลินเมื่อวัยเพียง 5 ปี ขณะนี้ คุณฮัตโตริร่วมงานกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ซึ่งรวมถึงวงดุริยางค์ซิมโฟนีโตเกียวด้วย ล่าสุด คุณฮัตโตริได้ไปแสดงการโซโลไวโอลินที่โรงละครโอเปร่ามารินสกี้แห่งเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงละครที่มีชื่อเสียงก้องโลก
หลังจากการเปิดตัวโครงการดนตรีคลาสสิคแห่งเอเชียรอบปฐมฤกษ์ในวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2567 เวลา 19:00 น. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยแล้ว พันธมิตรทั้งสามจะเปิดตัวกิจกรรมดนตรีคลาสสิคที่หลากหลาย และไม่เคยทำกันมาก่อนในโลกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อที่จะเป็นการวางรากฐานวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิคให้แข็งแกร่ง ก่อนที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานที่มั่นทางวัฒนธรรมในการกระจายวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิคแห่งเอเชียไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และทุกประเทศทั่วทวีปเอเชีย สำหรับ
ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ Facebook: Tokyo Symphony Orchestra Asia Project